28.5 C
Bangkok
Sunday, December 10, 2023

การเลี้ยงไก่ชนเชิงกีฬา(ไก่เก่ง)

“ไก่ชน” เป็นไก่พื้นเมืองชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะและความสามารถพิเศษในเรื่องการต่อสู้ไก่ชนในบางท้องถิ่นจึงอาจเรียกว่า “ไก่ตี” หรือ “ไก่นักมวย” หรือ “ไก่เก่ง” เป็นต้น การเลี้ยงไก่ชนเพื่อการกีฬาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่อดีต การชนไก่เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อหาตัวผู้ที่เก่ง แข็งแกร่งและสุขภาพสมบูรณ์ เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคาเพิ่มขึ้น 10-100 เท่า ของราคาไก่พื้นเมืองปกติจึงนับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าได้อย่างดียิ่ง

เงื่อนไขความสำเร็จ

  1. ต้องมีความรู้ และเข้าใจในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ไก่ชนเชิงกีฬา
    1. ต้องมีการดำเนินการผลิตในลักษณะกลุ่มหรือชมรม และมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 ราย โดยกลุ่มต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเทศบาล
    2. ต้องมีสนามประลองเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ก่อนจำหน่าย โดยไม่มีการพนันเด็ดขาด
    3. ต้องประสานการตลาดกับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนในท้องถิ่นเพื่อจำหน่ายไก่ที่ผลิตได้

เทคโนโลยีและกระบวนการผลิต

  1. พันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์
    สายพันธุ์ไก่เก่งที่นิยมเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นไก่ชนไทย ได้แก่ เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เขียวหางดำ เทาหางขาว นกแดง นกกรดทองแดง และสายพันธุ์ลูกผสมไทย-พม่า ลูกผสมไทย-เวียดนาม(ลูกผสมไซ่ง่อน) เป็นต้น
    ลักษณะไก่ชนไทยพันธุ์ดีที่ควรไว้ทำพันธุ์มีดังนี้ คือ เพศผู้น้ำหนักไม่น้อยกว่า3 กิโลกรัมและเพศเมียไม่น้อยกว่า 2 กิโลกรัม มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ขนเป็นมันเงางาม สีชัดเจน และมีลักษณะเด่นชัดตามแต่ละสายพันธุ์
  2. โรงเรือนและอุปกรณ์
    สถานที่เลี้ยงควรอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนเพื่อป้องกันโรคระบาดและไม่รบกวนเพื่อนบ้านบริเวณที่เลี้ยงควรมีร่มไม้ชายคา คอกเลี้ยงไก่ควรทำด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส หลังคามุงด้วยแฝกหรือจาก ภายในโรงเรือนควรมีคอนให้ไก่ได้เกาะหลับนอน สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นในโรงเรือน ต้องมีรางน้ำ รางอาหารอย่างเพียงพอกับจำนวนไก่ และมีรังไข่สำหรับแม่ไก่ฟักไข่ให้เพียงพอเช่นกัน
  3. อาหารและการให้อาหาร
    การเลี้ยงไก่ชนที่ดีควรเลี้ยงแบบปล่อยให้ไก่ได้ออกกำลังกาย และหาอาหารกินตามธรรมชาติ ไก่ชนก็จะคุ้ยเขี่ยหาเศษข้าวเปลือกที่ตกตามลานนา หาหนอน หาปลวกและแมลงกินเอง แต่ในสภาพ ปัจจุบันควรเลี้ยงไก่ชนแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย และมีอาหารเสริมบ้าง เช่น หญ้า หยวกกล้วย หรือ ผลไม้สุกหรือ หาหนอน หาแมลง ลูกกบ ลูกเขียด ลูกปลา กุ้งฝอย เนื้อปลาสับ หรืออาหารสำเร็จรูปมาเสริมบ้าง จะทำให้ไก่ชนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากอายุได้ 2 เดือนไปแล้ว ควรฝึกให้ไก่ชนได้กินข้าวเปลือก ทีละน้อยแล้วเพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อไก่โตขึ้น ส่วนการให้น้ำ ผู้เลี้ยงต้องมีน้ำสะอาดตั้งให้กินตลอดเวลา อุปกรณ์ใส่น้ำควรเป็นแบบแขวน จะดีที่สุด หรือดัดแปลงจากวัสดุในฟาร์ม เช่น อ่างน้ำ หรือกะละมัง
    1. การจัดการเลี้ยงดู
      การเลี้ยงดูในระยะแรกเกิดจนถึงอายุ 8 เดือน ใช้วิธีเลี้ยงเช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ชนสวยงามและไก่พื้นเมืองทั่วไป แต่หลังจากนั้นให้ทำการคัดเลือกพันธุ์โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ ไก่เก่ง (ไก่กีฬา) ไก่แกง(ไก่เนื้อเพื่อการบริโภค) และไก่พันธุ์ทดแทน โดยไก่เก่งหรือไก่กีฬาควรคัดไว้ประมาณ 10% ของลูกเพศผู้ทั้งหมด ไก่พันธุ์ทดแทนควรคัดไว้ประมาณ 30% ของลูกไก่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเลี้ยงเป็นไก่แกงหรือไก่เนื้อเพื่อการบริโภค (ชั่งกิโลขาย)
      การเลี้ยงไก่เก่ง ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ความชำนาญในการคัดเลือกสายพันธุ์ โดยใช้อัตราส่วนพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ ไม่เกิน 1 ต่อ 5 และต้องรู้ขั้นตอนการฝึกซ้อมไก่ให้เก่ง ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องมีการจัดทำพันธุ์ ประวัติประจำตัวไก่เก่งแต่ละตัวเอาไว้เมื่อผสมพันธุ์ผลิตลูกออกจำหน่าย จะได้ทราบชั้นเชิงของไก่ดังกล่าว และสามารถคัดเลือกลักษณะเพื่อขายได้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ การให้ผลผลิตของแม่ไก่ แม่ไก่ 1 ตัว จะให้ลูกได้ปีละ 4 คอก และแต่ละคอกจะเลี้ยงรอดประมาณ 8 ตัว
    2. การป้องกันโรคระบาด
      ควรมีการทำวัคซีนในโรคระบาดที่สำคัญ ได้แก่ โรคนิวคาสเซิล (โรคกระแตเวียน) โรคอหิวาต์ (โรคหน้าดำหรือโรคตกคอนตาย) โรคฝีดาษ (เกิดจากยุงกัด) และโรคหลอดลมอักเสบ(ไอ จาม น้ำมูก น้ำตาไหล หน้าบวม) โดยหาซื้อวัคซีน และขอคำแนะนำได้จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ

ต้นทุนและผลตอบแทน

สำหรับการเลี้ยงไก่ชน 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วย พ่อพันธุ์ 1 ตัวและแม่พันธุ์ 5 ตัว

  1. ต้นทุน จะได้แก่ค่าใช้จ่ายในส่วนค่าพ่อแม่พันธุ์ค่าอาหาร ค่าวัคซีนและเวชภัณฑ์ โดยจะมีต้นทุน ประมาณ 25,000-26,000 บาท
    1. ผลตอบแทน
      จะได้จากการจำหน่ายไก่ชนเพศผู้ที่คัดเป็นไก่เก่ง ไก่ชนที่คัดเป็นไก่ทดแทนและไก่ชนคัดทิ้งที่ขายเป็นไก่แกง โดยจะมีผลตอบแทนประมาณ 45,000-50,000 บาท และในปีต่อไปจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ต้องลงทุนค่าพ่อแม่พันธุ์ ทั้งนี้ ต้นทุนและผลตอบแทนที่ได้จะผันแปรไปตามสภาวะการตลาด แหล่งที่เลี้ยง ตลอดจน
      ความสามารถในการคัดเลือกพันธุ์ไก่ ดังนั้น เกษตรกรควรมีการศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเลี้ยง

Related Articles

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

Stay Connected

0FansLike
0FollowersFollow
0SubscribersSubscribe
- Advertisement -

Latest Articles