ปูทะเลมีรสชาติดีสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด เป็นที่นิยมบริโภคทั่วไป ปัจจุบันปูทะเลนับเป็นสินค้าที่มีราคาสูงและค่อนข้างหารับประทานได้ยาก ดังนั้น ความต้องการปูทะเลจึงมีเพิ่มมากขึ้น การเลี้ยงปูทะเลทำได้หลายประเภท เช่น การเลี้ยงขุนปูการเลี้ยงปูโพรกให้เป็นปูแน่น การเลี้ยงปูไข่ การเลี้ยงปูนิ่ม และการเลี้ยงปูเล็กเพื่อขายให้เลี้ยงต่อ
การเลือกพื้นที่เลี้ยงขุนปูทะเล
1) อยู่ใกล้แหล่งน้ำกร่อยความเค็ม 10-30 ppt (ส่วนในพันส่วน)
2) เป็นบริเวณที่น้ำทะเลขึ้น-ลง ได้สะดวก น้ำไม่ท่วมขณะที่น้ำทะเลมีระดับสูงสุด และสามารถระบายน้ำได้แห้งเมื่อมีน้ำลงต่ำสุด
3) มีการคมนาคมสะดวก
4) สภาพดินเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย สามารถเก็บน้ำได้ดี
5) ห่างไกลจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม
การเตรียมบ่อ
1) บ่อควรมีพื้นที่ประมาณ 400-1,600 ตารางเมตร หรือใช้บ่อเลี้ยงกุ้งเก่า ความลึก 1.5-1.8 เมตร และควรขุดร่องรอบบ่อลึกประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เมตร
2) ประตูน้ำมีประตูเดียวหรือ 2 ประตูหรือฝังท่อพีวีซีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว ท่อเดียวโดยใช้ฝาเปิด-ปิดก็ได้ ซึ่งใช้ระบายน้ำเข้า-ออกทางเดียวกัน
3) บริเวณคันบ่อและประตูน้ำใช้อวนเก่าหรืออวนมุ้งเขียวหรือแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาเกรดบี ปิดกั้นโดยรอบเพื่อป้องกันการหลบหนีของปู โดยสูงจากขอบบ่อและประตูระบายน้ำ 0.5 เมตร
4) ใช้ประตูน้ำเข้า-ออก เป็นไม้ขนาด 1-1.50 นิ้ว ห่างกันไม่เกินซีกละ 2 เซนติเมตร เย็บตะแกรงป้องกันปูออก
5) บ่อใหม่ควรทำความสะอาดบริเวณรอบบ่อ
6) บ่อเก่าควรมีการกำจัดวัชพืช ลอกเลน ถมรอยรั่ว ตามคันบ่อ
7) ใส่ปูนขาวประมาณ 50-60 กิโลกรัมต่อไร่


วิธีการเลี้ยง
การปล่อยปูลงเลี้ยงในบ่อ อัตราความหนาแน่นประมาณ 2-3 ตัวต่อตารางเมตร ควรทำในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น ก่อนปล่อยควรนำน้ำในบ่อที่จะใช้เลี้ยงปูราดบนตัวปู 2 ครั้ง ในระยะเวลา 30 นาที โดยเว้นระยะห่างกัน 15 นาที จากนั้นจึงนำปูมาปล่อยให้คลานลงไปในน้ำเอง ซึ่งวิธีการทำเช่นนี้จะช่วยให้ปูค่อยๆปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ถ้าปล่อยปูลงน้ำในบ่อทันที ปูจะเกิดอาการช็อคตายได้ ควรเลี้ยงปูทะเลตัวผู้กับปูตัวเมียรวมกันเพื่อเป็นการเลียนแบบธรรมชาติระหว่างการเลี้ยงต้องมีการดูแลและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน การระบายน้ำจะระบายเกือบแห้งเหลือน้ำไว้ประมาณ 10-15 เซนติเมตรเพื่อให้ปูฝังตัวได้ดีโดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 สัปดาห์
การให้อาหาร
ควรให้อาหารปูทะเลที่เลี้ยงวันละครั้ง อาหารที่นิยมใช้เลี้ยงคือ ปลาเป็ด และหอยกะพง ให้อาหารโดยการหว่านหรือใส่กระบะวางไว้รอบบ่อ
– ปลาเป็ดสับเป็นชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว ให้ประมาณ 5-7% ของน้ำหนักปูโดยประมาณว่าปูได้กินตัวละ1 ชิ้น
– หอยกะพง จะให้ทั้งตัวประมาณ 20-40% ของน้ำหนักป
การเก็บเกี่ยว
เมื่อเลี้ยงปูทะเลได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการแล้ว ผู้เลี้ยงจึงเริ่มการจับปูทะเลโดยเริ่มจับในช่วงน้ำขึ้น-ลงมีวิธีการดังนี้
1) ระบายน้ำออกเกือบหมด ให้น้ำเข้าบ่อในช่วงน้ำขึ้น เมื่อปูมาเล่นน้ำใหม่ที่ประตูจึงจับปูโดยใช้สวิงด้ามยาว
2) จับโดยใช้ถุงอวนจับในขณะที่เปิดน้ำออกจากบ่อ
3) จับโดยใช้ตะขอเกี่ยวปูในรูบริเวณคันบ่อ
4) จับโดยวิดแห้งทั้งบ่อแล้วใช้คราดและสวิงจับปู
5) คัดแยกปูไข่-เนื้อและขนาดปูเพื่อจำหน่าย สำหรับปูที่ยังไม่ได้คุณภาพให้ปล่อยลงเลี้ยงต่อไป

การตลาด
สำหรับปูทะเล ผู้บริโภคยังมีความต้องการสูงตลอดทั้งปีทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยปูเนื้อขนาด 300-400 กรัมต่อตัว ราคาประมาณ 250-300 บาทต่อกิโลกรัมและขนาด 400-500 กรัมต่อตัว ราคาประมาณ 300-350 บาทต่อกิโลกรัม
แหล่งข้อมูล: กรมประมง