28.5 C
Bangkok
Sunday, December 10, 2023

การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน

ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นข้าวโพดที่เก็บฝักมารับประทานเมื่อฝักอ่อนอยู่ หรือที่แกนกลางฝัก (ซัง) ยังไม่แข็งแรง การดูแลรักษาทั่วไปจึงไม่ต่างจากข้าวโพดฝักสดอื่นๆ ยกเว้นการใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดโรคและแมลง การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะมูลค่าการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นทุกปีข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น และสามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนสามารถแบ่งตามวิธีการผลิตพันธุ์ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. พันธุ์ผสมเปิด ซึ่งไม่มีการควบคุมการผสมเกสรในการผลิตเมล็ดพันธุ์ มีเพียงการคัดเลือกต้นที่ไม่ต้องการทิ้งไปก่อนออกดอก สามารถเก็บเมล็ดเพื่อใช้เป็นพันธุ์ในฤดูต่อไปได้2-3 รุ่น โดยผลผลิตลดลงเพียงเล็กน้อย พันธุ์ประเภทนี้จะมีขนาดฝักและลักษณะต่างๆ ไม่ค่อยสม่ำเสมอ ดังนั้น ผลผลิตจึงมักไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมแต่สามารถส่งขายตลาดสดได้ อาทิพันธุ์รังสิต 1 พันธุ์เชียงใหม่ 90
  2. พันธุ์ลูกผสม เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว การผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องมีการควบคุมการผสมเกสร และผลผลิตของสายพันธุ์แท้ค่อนข้างต่ำ ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์สูงกว่าพันธุ์ผสมเปิดมาก และไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ต่อได้แต่จะมีลักษณะต่างๆ เช่นลำต้น ขนาด และสีของฝักสม่ำเสมอ อีกทั้งให้ผลผลิตสูงเป็นที่ต้องการของโรงงาน ได้แก่ พันธุ์ G5414,G5445, NTB017, NTB018, Pacific16, Pacific421, Baby1, B50, IB991, CNB0308, CNB0305 และSXB 28

ปัจจัยจำเป็นที่ต้องใช้

พื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนควรอยู่ในเขตชลประทานหรือใกล้แหล่งน้ำสะอาด ที่สามารถระบายน้ำได้ดีข้าวโพดฝักอ่อนสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะดินที่มีการระบายน้ำดีความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) อยู่ระหว่าง 6.5-7.0 มีอินทรีย์วัตถุสูงกว่า 1.5% มีฟอสฟอรัสไม่ต่ำกว่า 20 ส่วนในล้านมีโพแทสเซียมไม่ต่ำกว่า 100 ส่วนในล้านส่วน โดยทั่วไปข้าวโพดเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 10-40 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะที่สุดคือ 27 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิกลางวันสูงและกลางคืนต่ำ มีแสงแดดจัดการออกดอกจะเร็วขึ้นถ้าปลูกในฤดูที่มีความยาวของกลางวันน้อยกว่า12ชั่วโมง

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1) ฤดูปลูก สามารถปลูกข้าวโพดได้ตลอดปีถ้ามีน้ำ แต่ที่ปลูกกันมากก็คือ ในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูอื่นๆ จะสามารถปลูกได้ในแหล่งที่มีระบบการชลประทานดี หรือมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์
2) การเตรียมดิน ไถดะ 1 ครั้ง ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วทำการไถแปร หรือพรวนดินให้ร่วนอีก 1-2 ครั้ง จากนั้นจัดทำร่องหรือแถวปลูก
3) การปลูกและระยะปลูก ระยะปลูกข้าวโพดฝักอ่อนที่เหมาะสม คือ ระยะห่างระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หยอดเมล็ดพันธุ์ หลุมละ 3 ต้น หรือระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร หลุมละ 2 ต้น โดยปลูกลึกประมาณ 3-4 เซนติเมตร ไม่ควรหยอดเมล็ดลึกเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดงอกช้า แต่ถ้าหากหยอดตื้นเกินไป เมล็ดจะไม่งอก และอาจถูกทำลายโดยนกและหนูได้ ถ้าเป็นดินเหนียวควรหยอดเมล็ดให้ตื้นกว่าดินทรายเล็กน้อย ถ้าใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นพันธุ์เชียงใหม่ 90 รังสิต 1 จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับเมล็ดพันธุ์หวานจะใช้ประมาณ
3 กิโลกรัมต่อไร่ จะได้ต้นข้าวโพดประมาณ 19,000 ต้นต่อไร่ แต่ถ้าปลูกแบบยกร่องจะได้เพียง 14,600 ต้นต่อไร่ เพราะต้องหักพื้นที่ของร่องน้ำ และทางเดินออก
4) การใส่ปุ๋ย ข้าวโพดฝักอ่อนมีการสะสมธาตุอาหารหลักในส่วนของฝักอ่อนมากกว่าส่วนอื่นๆ ความต้องการธาตุอาหารจึงมีผลอย่างยิ่งต่อความสมบูรณ์ของฝัก ในดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์1-2 ตันต่อไร่ 75-100 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมตอนปลูก และปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10-15 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวเมื่อมีอายุ 25-30 วัน ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงในปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียวอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้งในขั้นเตรียมดิน และเมื่ออายุ 25 วัน ควรใส่ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
5) การให้น้ำ ข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากตั้งแต่วันปลูกจนเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว หากขาดน้ำฝักอ่อนจะมีลักษณะผิดปกติอาทิผอม ลีบ ซังแห้ง หัวโต ดังนั้นควรให้น้ำทุกวัน แต่ครั้งละไม่มาก ทำเช่นเดียวกับการให้น้ำผักและเว้นระยะห่างขึ้น เมื่อต้นใหญ่สมบูรณ์ดีแล้ว ควรหมั่นสังเกตต้นข้าวโพดอย่าปล่อยให้เหี่ยว

ศัตรูข้าวโพดที่ควรระวัง

1) โรคสำคัญของข้าวโพดฝักอ่อน ได้แก่ โรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้แผลเล็ก โรคราสนิม โรคโคนเน่าที่เกิดจากแบคทีเรีย
2) แมลงศัตรูพืชได้แก่ มอดดิน หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะฝักข้าวโพด
3) วัชพืชในตระกูลหญ้าใบแคบ อาทิหญ้านกสีชมพู หญ้าตีนนก หญ้าปากควาย หรือตระกูลหญ้าใบกว้าง อาทิ ผักโขม ผักเบี้ยหิน หญ้ายาง เทียนนา หรือตระกูลกก อาทิ แห้วหมู

ผลผลิต

ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่เลือกใช้และรายละเอียดตามขั้นตอนการดำเนินงาน

ตลาดและผลตอบแทน

พันธุ์ลูกผสมจะให้ผลผลิตสูงกว่า มีราคาดีกว่าและเป็นที่ต้องการของโรงงานมากกว่า ข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 60 วัน นับจากวันปลูกถึงวันสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ต้นข้าวโพดยังสามารถนำไปเลี้ยงโคนม และทำปุ๋ยหมักได้

มาตรฐานการรับซื้อ

การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่ออุตสาหกรรมหรือส่งออกฝักสดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณภาพ และปริมาณของผลผลิต ทำอย่างไรให้ได้มาตรฐานมากที่สุด ดังนั้น เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนปลูก ซึ่งมีข้อที่เกษตรกรควรคำนึงถึง ดังนี้ ขนาดของข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรม จำแนกเป็น 3 เกรด คือฝักมีความยาว 9-13 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-1.8 เซนติเมตร (L), ฝักมีความยาว 7-9 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2-15 เซนติเมตร (M), ฝักมีความยาว 4-7 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0-1.2 เซนติเมตร (S), ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานจะผลิตเกรด S, M มากกว่า L

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Related Articles

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

Stay Connected

0FansLike
0FollowersFollow
0SubscribersSubscribe
- Advertisement -

Latest Articles